โครงการก่อสร้าง ถนนสาย จ สะพานข้ามแม่น้ำปิง หนองปลิง-ทรงธรรม
กรมทางหลวงชนบท จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน โครงการก่อสร้าง ถนนสาย จ ผังเมืองรวมกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ระยะ 3.510 กม.

วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2568 นายชัยสัมพันธ์ โพธิ์ศรี ผอ.แขวงทางหลวงชนบทจังหวัดกำแพงเพชร เปิดการประชุมสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการก่อสร้างถนนสาย จ ผังเมืองรมเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ระยะ 3.510 กิโลเมตร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการควบคุมงานก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นายไพรัช ตัณนิติศุภวงษ์ นายกเทศมนตรีเมืองหนองปลิง นางเอื้อมพร วงทอง นายก อบต.ทรงธรรม เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ประชาชนผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมที่อาคารหอประชุมเทศบาลเมืองหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร



ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเส้นทางเลี่ยงเมืองกำแพงเพชร เชื่อมโยงโครงข่ายวงแหวน เพิ่มเส้นทางการเดินทางและสนับสนุนการเดินทางข้ามแม่น้ำปิง รองรับการขยายตัวของเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ลดปริมาณรถบรรทุกที่เข้าสู่ตัวเมือง เพิ่มความปลอดภัยต่อชุมชน และเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไปยังจังหวัดตาก สุโขทัย พิจิตร และนครสวรรค์

รายละเอียดโครงการฯ จุดเริ่มของโครงการตั้งแต่บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 สายตาก-กำแพงเพชร (ขาล่อง)ใกล้กับสถานีไฟฟ้ากำแพงเพชร ไปถึงบริเวณทางแยกสัญญาณไฟจราจรติดศูนย์การเรียนรู้จังหวัดกำแพงเพชร (กศน.กำแพงเพชร) และเรือนจำกลางกำแพงเพชร มีระยะทางก่อสร้าง 3.510 กิโลเมตร เขตทางกว้าง 60 เมตร ผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ทางเท้ากว้าง: 3.40 เมตร เกาะกลางแบบยก สะพานข้ามแม่น้ำปิง แบบระบบพื้นและคานสะพานรูปกล่อง (Box-girder) ก่อสร้างโดยวิธีคานยื่นสมดุล 120 เมตร และช่องความยาวรอง 75 เมตร จำนวนอย่างละ 2 ช่วง ช่วงความยาวทั่วไป 40 เมตร จำนวน 4 ช่วง

โครงสร้างช่วงขึ้นลงสะพาน เพิ่มจุดกลับรถ: 4 แห่ง (บริเวณจุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุดโครงการ และใต้สะพานทั้งสองฝั่ง) ระบบอื่นๆ: ไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบระบายน้ำ งานอำนวยความปลอดภัย และงานภูมิ สถาปัตยกรรม ใช้งบประมาณก่อสร้าง: 1,594,384,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง: 900 วัน (เริ่ม 2 ธันวาคม 2567 แล้วเสร็จ 20 พฤษภาคม 2570)

การประชุมครั้งนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบรายละเอียด แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อให้โครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนมากที่สุด ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับสามารถใช้เป็นเส้นทางเลี่ยงเมืองกำแพงเพชร เชื่อมโยงโครงข่ายวงแหวน เพิ่มเส้นทางการเดินทางและสนับสนุนการเดินทางข้ามแม่น้ำปิง รองรับการขยายตัวของเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ลดปริมาณรถบรรทุกที่เข้าสู่ตัวเมือง เพิ่มความปลอดภัยต่อชุมชน เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไปยังจังหวัดตาก สุโขทัย พิจิตร และนครสวรรค์ โดยกรมทางหลวงชนบทให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนของโครงการ เพื่อให้โครงการก่อสร้างถนนสาย จ ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง









