“วันเทศบาล”นายกชัยวัฒน์ รับสนองกระทรวงมหาดไทย พันธกิจ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที”
วันที่ 24 เม.ย.ของทุกปี เป็น“วันเทศบาล” ตั้งขึ้นเพื่อตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับคนในชุมชนมากที่สุด ปี 2567 กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายพันธกิจสำคัญคือ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที”
นายชัยวัฒน์ ศุภอรรถพานิช นายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชร นายวุฒิชัย ศุภอรรถพานิช ,นายนพพร ปานชัย รองนายกฯ นา นายไพโรจน์ แก้วแดง ที่ปรึกษาฯ นางจำเรียง เกตุถทองพันฒ์ ที่ปรึกษาฯ นายปริญญา เหหล่าวชิรวงศ์ เลขานายกฯ นายพิพัฒน์ จงมีความสุข ประธานสภาฯ และสมาชิกสภาฯ ร่วมโครงการกิจกรรมวันเทศบาล ประจำปี 2567 สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ประกอบด้วย พระพุทธสิหิงค์ ศาลพระพรหม ศาลพระภูมิเจ้าที่ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่คณะผู้บริหารเทศบาลฯ สมาชิกสภาเทศบาลฯ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการสถานศึกษาและพนักงานเทศบาลเมืองกำแพงเพชร
นายนพพร ทองอ่อน ปลัดเทศบาลเมืองกำแพงเพชร กล่าวรายงานว่า กระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2532 กำหนดให้วันที่ 24 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันเทศบาล” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของวันก่อกำเนิดองค์กรเทศบาล เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรในเทศบาลเกิดความรักผูกพันต่อสถาบันของตนเอง เพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีของบุคลากรในหน่วยงานในการปฏิบัติงานร่วมกัน
อันจะเกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ และเพื่อทำความสะอาดอาคารสถานที่ราชการ ให้เกิดความเรียบร้อยสวยงาม เหมาะสมแก่การให้บริการประชาชน ตลอดจนเป็นลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) และฝุ่นละออง p.m. 2.5 ซึ่งนายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชร ได้อ่านสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเนื่องในวันเทศบาล และทำบุญตักบาตรถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป ร่วมบริจาคโลหิต ในส่วนภาคบ่าย กำหนดจัดกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ Big Cleaning Day จัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองกำแพงเพชร โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 200 คน
“เทศบาล” มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ เพื่อให้มีความทันสมัยอย่างเช่นนานอารยประเทศ จึงได้มีการจัดตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปแบบสุขาภิบาลที่ท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2441 และได้มีการขยายการจัดตั้งต่อ ๆ มาจนทั่วประเทศ จนมาถึงช่วงสมัยที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 ต่อมาในปี 2476 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2477 จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล .ศ. 2496 มาจนถึงปัจจุบัน และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่อยมา รวมทั้งหมด 13 ฉบับด้วยกัน โดยเทศบาลของไทยมีการแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามเงื่อนไขของจำนวนประชากรและรายได้ของเทศบาลนั้น ๆ ดังกำหนดไว้ในมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2546 ดังนี้
มาตรา 9 เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วยมาตรา 10 เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่หนึ่งหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่ อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย มาตรา 11 เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ห้าหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีประกาศกระทรวมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย
ต่อมาในปี 2532 กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีพลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาเห็นว่า นับตั้งแต่ได้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลขึ้นมาเป็นระยะเวลา 55 ปี (ปี 2477-2532) เทศบาลได้พัฒนาและสร้างความเจริญด้านต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก อำนวยประโยชน์ให้บริการแก่ประชาชนทั้งในด้านการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขเป็นกระบวนการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ด้วยตนเอง
ดังนั้น เพื่อเชิดชูความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยทั่วไป อันจะเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้บริหารและพนักงานเทศบาล รวมทั้งประชาชนได้สำนึกถึงความรักความผูกพัน ความเสียสละ และความรับผิดชอบที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ดังนั้นกระทรวงมหาดไทย จึงได้มีประกาศลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2532 กำหนดให้วันที่ 24 เมษายนของทุกปีเป็น “วันเทศบาล” สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2477 นั่นเอง
“เทศบาล” ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดรูปแบบหนึ่งอันเป็นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตลอดระยะเวลา 86 ปี เทศบาลได้มีพัฒนาการที่ดีมาโดยลำดับ และสร้างความเจริญด้านต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น เมื่อปี 2503 ยังมีการรวมตัวกันของเทศบาลจัดตั้งเป็น “สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย” เพื่อทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการประสานงานและแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานของเทศบาลร่วมกันอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมีเทศบาลทั่วประเทศทั้งหมด 2,441 แห่ง โดยแยกเป็นเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 178 แห่ง และเทศตำบล 2,233 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2560) โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลมีหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะ ดูแลทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่ และเป็นหน่วยงานหลักที่จะนำยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่รวมถึงกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่พัฒนามาจากเทศบาลเช่นกัน
ทั้งนี้ หัวใจหลักของงาน “วันเทศบาล” จึงเป็นวันที่มีการระลึกถึงความสำคัญและความเป็นมาของการก่อกำเนิดเทศบาล อีกทั้งเป็นการให้พนักงานเทศบาลทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเทศบาลสามัญพนักงานครูเทศบาล พนักงานสถานธนานุบาล พนักงานจ้างตามภารกิจ พนักงานจ้างทั่วไป ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการปกครองท้องถิ่น อีกทั้งมองเห็นความสำคัญของการบริการ การอำนวยความสะดวก การสร้างความเป็นธรรม และความเสมอภาคต่อประชาชน นอกจากนี้ ยังให้บุคลากรของเทศบาลได้มีความรัก ความผูกพัน ความสามัคคี ซึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 24 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็น “วันเทศบาล” โดยเทศบาลทั่วประเทศจะมีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันเทศบาลตามความเหมาะสม โดยเป็นไปในลักษณะของการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจขององค์กรเทศบาลให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีการทำบุญตักบาตร การจัดบอร์ดนิทรรศการเพื่อแสดงผลงาน โดยเน้นถึงการระลึกถึงความสำคัญและความเป็นมาของการก่อกำเนิดเทศบาล การให้พนักงานเทศบาลได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล ตลอดจนให้บุคลากรต่าง ๆ ได้มองเห็นความสำคัญของการบริการให้กับประชาชนที่มาใช้บริการของเทศบาล / ที่มา /สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา