สิงห์โตทองไม่ทน..ทวงค่าเช่า ข้าวคลัง A1 ขายหมดแล้วไม่ใช้หนี้สักที ยื่นฟ้อง อคส. กว่า 112 ล้าน จี้รัฐตรวจข้าวทิ้งให้เน่าซ้ำ..!
เอกชนให้เช่าคลังสินค้า ยื่นฟ้อง อคส.ค่าเช่าคลัง และเรียกค่าเสียหาย ตามสัญญาเช่าคลัง บริษัทสิงห์โตทองฯ หลัง A1 กว่า 112 ล้านบาท และชี้ อคส.ปฏิเสธความรับชอบ ทิ้งข้าวเน่าหลายพันตันรัฐเสียหายกว่า 30 ล้านบาท
วันที่ 27 กุมถาพันธ์ 2567 ความคืบหน้ากรณี บริษัทสิงห์โตทองไรซ์คอร์ปอเรชั่นจำกัด จังหวัดกำแพงเพชร ได้ยื่นฟ้องคู่กรณี องค์การคลังสินค้า เมื่อ 22 ธันวาคม 2566 บริษัทสิงห์โตทองฯ ได้ยื่นฟ้อง องค์การคลังสินค้า ต่อศาลปกครองกลาง เรียกค่าเช่าค้างชำระและค่าเสียหาย ค่าขาดประโยชน์ในการใช้พื้นที่ ทุนทรัพย์การฟ้องจำนวน 112,360,428.13 บาท และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง เมื่อ 16 มกราคม 2567
นายมนต์ชัย รุ่งชาญชัย กรรมการบริษัทสิงห์โตทองไรซ์คอร์ปอเรชั่นจำกัด เปิดเผยว่า องค์การคลังสินค้าได้มาเช่าคลังบริษัทสิงห์โตทองฯ หลังที่ A1 เก็บรักษาข้าวสารในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2558 ได้เกิดไฟไหม้ภายในคลังสินค้าหลังที่ A1 ดังกล่าว องค์การคลังสินค้าได้แต่งตั้งคณะกรรมการมาดำเนินการขนย้ายข้าวที่เปียกน้ำจากการดับเพลิง แยกออกมาไว้ยังบริเวณหน้าคลังสินค้าของบริษัท ฯ ซึ่งทางบริษัทได้ทำหนังสือแจ้งถึงองค์การคลังสินค้า ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันถึง 8 ฉบับด้วยกัน ให้มาดำเนินการขนย้ายข้าวสารจำนวนนี้ออกจากพื้นที่ของบริษัท แต่ อคส.กลับปฎิเสธกองข้าวเน่านี้ โดยที่ไม่มีการดูแลรักษาคุณภาพข้าวสารแต่อย่างใด กองข้าวได้เน่าเสียหายและส่งกลิ่นเหม็น ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายในการใช้พื้นที่และเสียภาพลักษณ์ของบริษัทอย่างยิ่ง
ซึ่งองค์การคลังสินค้าได้ เปิดประมูลขายข้าวสารในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ เมื่อปี 2562 และได้ขายข้าวสารในคลังหลังที่ A1 ให้กับผู้ชนะการประมูลแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2563 และผู้ชนะการประมูลได้ทำการขนย้ายข้าวสารออกจากคลังหลังที่ A1 หมดแล้วเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 และได้ขนย้ายข้าวสารที่กองไว้บริเวณหน้าคลังของบริษัทฯ ออกไปบางส่วน ยังคงเหลือข้าวสารที่กองทิ้งไว้เน่าเสียหายอีกจำนวนหลายพันตัน
การกระทำขององค์การคลังสินค้าในครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับภาครัฐ อย่างมาก คิดเป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบความเสียหายในครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามหลายปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนผู้บริหารองค์การคลังสินค้ากันตามวาระ และองค์การคลังสินค้าได้ปฏิเสธกองข้าวที่มีปัญหานี้เรื่อยมา ทั้งที่ขนออกมาจากคลังไฟไหม้เมื่อปี 2558 ยังคงมีร่องรอยข้าวที่เปียกน้ำและถูกไฟไหม้ให้เห็น และกั้นเขตแนวรักษากองข้าวเน่านี้ไว้เป็นอย่างดี และจากการที่องค์การคลังสินค้าออกมาปฏิเสธ ว่าไม่ใช่ข้าวของ อคส.นั้น ทางบริษัทมีเอกสารสัญญาเช่าคลังว่าข้าวจำนวนนี้เป็นของ อคส. แล้วถ้าไม่ใช่ข้าวของ อคส. ทำไม อคส.เปิดประมูลขายได้อย่างไร และ อคส.ได้เบิกค่าสินไหมประกันภัยจากเหตุไฟไหม้ข้าวกองนี้ไปกว่า 10 ล้านบาท และในทุกปีจะมีเจ้าหน้าที่ อคส.ได้มาเช็คสต๊อกข้าวคงเหลือ ถึงปีละ 2 ครั้ง ทางบริษัทเห็นว่า อคส.ละเว้นปล่อยให้ข้าวเน่า รัฐเสียหายต่อการทำหน้าที่ของ อคส.เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ทางบริษัทได้ยื่นเอกสาร ให้ ปปช.กำแพงเพชร ลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อหาผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้