บุญสารทไทยกล้วยไข่ ทอดผ้าป่ากลางคืน ผ้าป่าแถวแห่งเดียวในโลก
วันที่ 14 ตุลาคม 2566 พระพรหม วชิรวิสุทธิ์ เจ้าคณะภาค 4 เจ้าอาวาสวัดคูยาง (พระอารามหลวง) เป็นประธานสงฆ์บุญทอดผ้าป่ากลางคืน หรือผ้าป่าแถวแห่งเดียวในโลก ในงานประเพณีสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง 2566 ที่ บริเวณวัดพระแก้ว อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มี นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นำหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประชาชนทั่วไปจำนวนกว่า 500 คน เข้าร่วมพิธีทอดผ้าป่าแถวเนื่องในวันสารทไทย
โดยมี นางกาญจนี รุจนเสรี ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังวหัดกำแพงเพชร/นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกำแพงเพชร, นางระวีวรรณ หงส์ขจรโพธิ์ทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกำแพงเพชร, นางสาวสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร, นายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ปลัดจังหวัดกำแพงเพชร, พ.อ.เสมอ แจ่มใส รอง ผอ.รมน.จังหวัดฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร , เทศบาลเมืองกำแพงเพชร ร่วมบุญในครั้งนี้
ประเพณีสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง พุทธศาสนิกชน นิยมนำกล้วยไข่คู่กับกระยาสารทไปทำบุญตักบาตร จึงเป็นที่มาของการจัดงานประเพณีสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา สำหรับปีนี้ ทางจังหวัดกำแพงเพชร ได้จัดสถานที่ทอดผ้าป่าแถวที่วัดพระแก้ว โบราณสถานเก่าแก่ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลกกำแพงเพชร ถือเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นเอกลักษณ์แห่งเดียวในโลกนี้
เนื่องจากประเพณีการนุ่งห่มของพระสงฆ์ กล่าวคือ สมัยพุทธกาล พระสงฆ์ทั้งหลายต้องเก็บเศษผ้าที่ชาวบ้านทิ้งแล้ว เพราะเปรอะเปื้อนด้วยของไม่สะอาด เป็นต้น จากที่ต่าง ๆ เอามาซัก ตัด เย็บย้อม ทำผ้านุ่งห่มดูเป็นเรื่องที่ลำบากพอสมควร ชาวบ้านบางท่านประสงค์จะถวายผ้าแต่พระสงฆ์ก็รับไม่ได้ เพราะพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้รับเพราะเกรงว่าจะเป็นการรบกวนชาวบ้าน และฟุ่มเฟือยเกินไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวบ้านจึงคิดหาวิธีที่จะให้พระสงฆ์มีผ้านุ่งห่มอย่างเพียงพอ โดยการนำผ้าไปทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ พระสงฆ์ไปพบเข้าพิจารณาดูแล้วไม่มีเจ้าของหวงแหน จึงนำมาทำเป็นผ้านุ่งห่ม นี่เป็นมูลเหตุของการทอดผ้าป่า
โดยจุดประสงค์รวม ๆ ก็คือ อุปถัมภ์พระสงฆ์ให้มีผ้านุ่งห่มนั่นเอง ต่อมาพระพุทธองค์ ทรงเห็นความจำเป็นและความลำบากของพระสงฆ์ในเรื่องผ้านุ่งห่ม จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าจากผู้มีจิตศรัทธาได้ ดังนั้น การทอดผ้าป่า จึงเป็นแต่สมัยพุทธกาลประเทศไทยเราก็คงรับประเพณีนี้มาพร้อม ๆ กับการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา แต่คงเป็นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ไม่เด่นชัดนัก จนมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ประเพณีการทอดผ้าป่าจึงได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่จนเป็นที่นิยมปฏิบัติของ ชาวพุทธไทยเราตราบเท่าทุกวันนี้