แนวทางสร้างถนน 4 เลน จากศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ถึงแยก กศน.ไม่กระทบโบราณสถาน
แขวงการทางยัน เส้นทางสาย 101
ไม่มีผลกระทบต่อมรดกโลกและโบราณสถานกว่า 50 แห่ง
น.ส.สุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร , นายสราญ มีมูซอตำแหน่ง วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ผู้จัดการโครงการกรมทางหลวง ประชุมเสนอความคิดเห็นการกำหนดรูปแบบทางเลือกและการพัฒนาโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบเส้นทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 101 สายในเมืองถึงตำบลหนองปลิง ระยะทาง 4 กิโลเมตร ร่วมด้วยประชาชนในเขตพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องร่วม 100 คนเข้าร่วมประชุมในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ที่ห้องประชุมอินทนิลวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชรอำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร
น.ส.สุพัตตรา กล่าวว่า ทางหลวงหมายเลข 101 สายในเมือง – ต.หนองปลิง เป็นทางหลวงในจังหวัดกำแพงเพชร เชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 1 กับทางหลวงหมายเลข 112 เป็นเส้นทางหลักที่ใช้เดินทางภายในตัวเมือง จ.กำแพงเพชร ปัจจุบันแนวเส้นทางมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง
ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่โครงการเบื้องต้น พบว่า แนวเส้นทางของโครงการผ่านพื้นที่อ่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมอาทิ พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และยังมีแหล่งโบราณสถานในพื้นที่ทั้งหมด 50 แห่ง ในระยะ 1 กิโลเมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางของโครงการ โดยโบราณสถานบางแห่งตั้งอยู่ประชิดทางหลวงหมายเลข 101
เช่น วัดดงหวาย บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดบ่อสามแสน เป็นต้นที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ
ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2561 รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการมาแล้ว 50% พร้อมมีการกำหนดแนวทางเลือกเบื้องต้นเพื่อให้ประชาชนผู้เกี่ยวข้องได้ตัดสินใจเลือกหรือหาข้อสรุปให้ได้ก่อนที่จะมีการดำเนินการก่อสร้าง เพื่อมีให้เกิดความขัดแย้งภายหลัง
จากข้อมูลการสำรวจตรวจสอบสภาพพื้นที่โครงการ สามารถสรุปปัจจัยและข้อจำกัด ที่ต้องนำมาพิจารณาได้ 3 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 จุดเริ่มต้นโครงการ กม.3+500 – กม.4+975 (ในเขตพื้นที่เขตอุทยานประวัติศาสตร์)จะคงแนวถนนเดิมไม่มีการปรับแนวใด ( และใช้เขตทางเดิมกว้าง 30 เมตร ส่วนช่วงที่ 2 กม.4+975 – กม.7+000 (ช่วงนอกพื้นที่เขตอุทยานประวัติศาสตร์และมีข้อจำกัดโบราณสถาน)
โดยมีการปรับแนวถนนเยงด้านซ้ายทางและขวาทาง และช่วงที่ 3 กม.7+000 – กม.8+000 (ช่วงนอกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ ไม่ติดข้อจำกัดโบราณสถาน)โดยทำการปรับแนวถนนใหม่ให้เข้ากับแนวถนนเดิมอย่างไรก็ตาม การศึกษาและ สำรวจความคิดเห็นยังคงมีอีก 2-3ครั้ง เพื่อให้เกิดการตกผลึก มีความเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและ เกิดประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด