น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ “สมเด็จย่า”วันคล้ายวันสวรรคต “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”
วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ “สมเด็จย่า” 18 กรกฎาคม 2565 วันคล้ายวันสวรรคต “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์กำแพงเพชร จัดพิธีน้อมรำลึกวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
โดย นายชาธิป รุจเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ประธานประกอบพิธีวางพวงมาลา หน้าพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ของปวงชนชาวไทย ในพิธี ณ บริเวณลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตำบลเทพนคร อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร
ร่วมด้วย นางกาญจนี รุจนเสรีนายกเหล่ากาชาดจังหวัดกำแพงเพชร, คณะกรรมการเหล่ากาชาดฯ ,นายวัลลภ ภู่สุวรรณประธานสภาเทศบาลตำบลเทพนคร,นายชัยวัฒน์ ศุภอรรถพานิชนายกเทศมนตรีฯเมืองกำแพงเพชร มอบหมายร่วมพิธี นายปริญญา เหล่าวชิรวงค์ เลขานุการนายกเทศมนตรีฯ พ.ต.อ.เอนก จันทร์ศร รอง ผบก.ภ.จว.กำแพงเพชร, องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร และหัวหน้าส่วนราชการ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระนามเดิมว่า “สังวาลย์” เสด็จพระราชสมภพที่เมืองนนทบุรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2543 ทรงเป็นบุตรคนที่สามในพระชนกชื่อ “ชู” และพระชนนีชื่อ “คำ” ทรงมีพระภคินีและพระเชษฐาร่วมพระอุทรสองคน ซึ่งถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์วัย และมีพระอนุชาคนเดียว คือคุณถมยา ซึ่งมีอายุน้อยกว่าพระองค์สองปี
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเป็นนักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดในรุ่นของพระองค์ซึ่งมีจำนวนเพียง 14 คน ทรงเรียนได้ดีและทรงศึกษาสำเร็จภายในสามปี และทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตามข้อผูกพันของการเป็นนักเรียนหลวง ต่อมาในปี พ.ศ.2460 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับทุนให้ไปเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา
ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2460 ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สนพระราชหฤทัยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ยากไร้ และด้อยโอกาส ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ พยาบาล และการสาธารณสุข ทรงจัดตั้ง หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี มีอักษรย่อว่า พอ.สว. หน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ เดินไปในถิ่นทุรกันดาร ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสมาชิกสมทบอีกคณะหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับสิ่งตอบแทน และเบี้ยเลี้ยง เงินเดือน
มูลนิธิขาเทียม เมื่อ 17 สิงหาคม 2535 ทำให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัว และครอบครัวได้ มูลนิธิถันยรักษ์ ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเดือนมีนาคม 2538 เพื่อใช้เป็นสถานที่ตรวจวินิจฉัยเต้านม ได้นำเงินพระราชทาน และเงินบริจาคไปจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์เต้านม แมมโมแกรม เครื่องอุลตราซาวด์ และเครื่องตรวจเจาะชิ้นเนื้อที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น และนำแพทย์ และเจ้าหน้าที่เทคนิคผู้เชี่ยวชาญเรื่องตรวจ วินิจฉัยมะเร็งเต้านมจากต่างประเทศมาฝึกสอนรังสีแพทย์ และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ทั้งนี้พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร และได้พระราชทานความช่วยเหลือผ่านทางเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เปรียบเสมือนพระองค์เสด็จมาจากฟากฟ้าช่วยให้พวกเขามีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ชาวไทยภูเขาจึงถวายพระสมัญญาว่า “แม่ฟ้าหลวง”
วันที่ 18 กรกฎาคม 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระอาการทรุดลงจากพระอาการประชวรก่อนหน้านี้ เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ รวมทั้งการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมและกรองสารพิษซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของพระยกนะ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนกระทั่ง เวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา 8 เดือน 27 วัน