ปตท.สผ.โครงการเอส 1 หนุนเกษตรกร มีกินในครัวต่อยอดรายได้ยั่งยืน
“เริ่มจากมีกินมีใช้ในครัวเรือน ต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรตลอดปี”
ปตท.สผ. โครงการเอส 1
ร่วม กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จังหวัดกำแพงเพชร และ จังหวัดสุโขทัย ริเริ่มโครงการส่งเสริมและพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 2560 โดย น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการทรัพยากรระดับไร่นาคือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการทำเกษตรอย่างพอเพียง มีกิน มีใช้ และสามารถให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ตลอดทั้งปี โดยผสมผสานระหว่างโครงการโคก หนอง นา โมเดล และ โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพราะการบริหารจัดการพื้นที่ทำการเกษตรและน้ำภายใต้ข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของการทำกสิกรรม
ผู้ใหญ่ขวัญเรือน ใจไหม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านคลองพิไกร ตำบลคลองพิไกร อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เกษตรกรต้นแบบ หนึ่งในสมาชิก ในโครงการ โคก หนอง นา โมเดล และ โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ทำการเกษตรอินทรีย์ผสมผสานมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ในปี 2560
ผู้ใหญ่ขวัญเรือนมีโอกาสได้ไปเรียนรู้ทฤษฎีการจัดการพื้นที่การเกษตร “โคก หนอง นา โมเดล” จากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบที่ผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน เริ่มจากขุดบ่อทำหนองให้มีแหล่งน้ำ ทำหนองให้คดโค้งเพื่อเพิ่มพื้นที่รอบ ๆ ให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลา
จากนั้นขุดคลองไส้ไก่ให้มีน้ำหล่อเลี้ยงชุ่มฉ่ำเต็มพื้นที่ ส่วนหนึ่งสำหรับทำนาน้ำลึก โดยยกหัวคันนาสูงเพื่อกักเก็บน้ำฝน และใช้ระดับน้ำในท้องนาควบคุมวัชพืชและศัตรูพืช ดินที่ได้จากการขุดหนองนำไปทำโคกเพื่อปลูกผักเอาไว้เป็นอาหาร ปลูกไม้เอาไว้ใช้สอย ปลูกยาสมุนไพร ตามทฤษฎีการปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง ส่วนพื้นที่ที่เหลือสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์
“จากการเรียนรู้ สู่การลงมือปฏิบัติจริง” ผู้ใหญ่ขวัญเรือนนำความรู้ที่ได้กลับมาต่อยอดบริหารจัดการพื้นที่ 13 ไร่เศษของตนเอง จัดสรรเป็น ส่วนกักเก็บน้ำ ส่วนของแปลงพืชสวนครัว แปลงพืชเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก ปตท.สผ. ในการพัฒนาให้เป็นแปลงต้นแบบ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มุ่งหวังต่อยอดไปยังประโยชน์ให้แก่ชุมชนโดยรอบ ทั้งในด้านทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติจริง
“ปัญหามา ปัญญาเพิ่ม” บทเรียนจากพื้นที่ต้นแบบของผู้ใหญ่ขวัญเรือน พบว่า น้ำ ซึ่งเป็นหัวใจของโคก หนอง นา โมเดล มีแนวโน้มที่จะขาดแคลน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งฝนทิ้งช่วงในประเทศไทยที่เริ่มปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 ปตท.สผ. จึงได้นำโครงการ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้มาจาก สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณของ หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ และองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร
มาทดลองใช้เพื่อบริหารจัดการน้ำและรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง หลักการสำคัญของ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” คือ การฝากน้ำไว้กับดิน โดยการขุดก้นบ่อให้ทะลุชั้นดินเหนียว เพื่อส่งน้ำจากผิวดินที่ปกติจะระเหยไปวันละ 1 เซนติเมตร ลงไปเก็บยังชั้นหินอุ้มน้ำ เกิดการดูดซับน้ำลงสู่ชั้นใต้ดิน เปรียบเสมือนการออมหรือกักเก็บน้ำต้นทุนเพื่อให้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง และยังช่วยทำให้ดินในบริเวณรอบจุดที่ทำชุ่มน้ำและอุ้มน้ำมากยิ่งขึ้น
“เริ่มจากมีกินมีใช้ในครัวเรือน ต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรตลอดปี” การบริหารจัดการพื้นที่ตามทฤษฎี โคก หนอง นา โมเดล และโครงการธนาคารน้ำใต้ดินของผู้ใหญ่ขวัญเรือนนั้น ส่งผลให้พืชพรรณงอกงาม ผลไม้ที่ปลูกไว้ติดผลเต็มต้นเพราะได้น้ำหล่อเลี้ยงตลอด มีผลผลิตพอกิน พอใช้ ในครัวเรือน มีรายได้เพิ่มจากขายผลผลิตส่วนเกินและการแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ขวัญเรือนยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตจะทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เพื่อกรองน้ำไว้ใช้เองภายในครัวเรือน รวมไปถึงติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้อีกทางหนึ่ง
ผู้ใหญ่ขวัญเรือน เป็นแบบอย่าง ที่ช่วยให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการมีวิถีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงมากขึ้น ประยุกต์ใช้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำรงชีพ เกิดการสร้างรายได้และเกิดประโยชน์สูงสุด / Cr ปชส.ปตท.สผ. โครงการเอส 1 #พลังความร่วมมือเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน #EnergyPartnerOfChoice #PTTEP #S1Project