ข่าวเด่นทำมาหากิน

ส่งเสริมอาชีพ โครงการเลี้ยงแพะพระราชทานพันธุ์แบล็คเบงกอล โดยกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับ ปตท.สผ.

“ลุงจะเลี้ยงไป จนกว่าจะตายจากกัน”

คำมั่นสัญญาของลุงพา เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะพระราชทานพันธุ์แบล็คเบงกอล

โครงการเลี้ยงแพะพระราชทานพันธุ์แบล็คเบงกอล โดย กองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับ ปตท.สผ.

ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในการส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหรือเสริมรายได้ โดยได้จัดตั้งโครงการภายในค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ดำเนินการโดย กองพันส่งกำลังและบริการที่ 23 กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 กองทัพภาคที่ 3 เพื่อให้เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และวิธีการ (Know How) การเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล ให้กำลังพลและครอบครัว ตลอดจนชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติงานของ ปตท.สผ. และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ ได้เข้าศึกษาเรียนรู้ นำไปขยายผลและประกอบอาชีพ รวมไปถึงเพื่อเป็นแหล่งผลิตแพะพันธุ์แบล็คเบงกอลพระราชทานอีกแห่งหนึ่งในเขตภาคเหนือตอนล่าง

นายพา บินเย็น หรือ ลุงพา อายุ 70 ปี เป็น 1 ในสมาชิกเครือข่ายคนเลี้ยงแพะพระราชทานฯ รุ่นที่ 1 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพภาคที่ 3 และ ปตท.สผ. อาศัยอยู่กับภรรยา “ป้าไร” ในพื้นที่ ต.บึงทับแรต อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ลุงพาและป้าไรเล่าว่า

“เดิมประกอบอาชีพทำนา แต่เจอวิกฤติราคาข้าวตกต่ำ ประสบปัญหาโรค แมลง แต่ละปีรายได้ไม่พอกับค่าปุ๋ย ค่ายา  จึงพลิกชีวิตหันมาเลี้ยงแพะเนื้อเป็นอาชีพหลัก โดยได้เพาะพันธุ์และเลี้ยงไว้ภายในบริเวณบ้าน ต่อมาเดือนมิถุนายน 2561 ได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายคนเลี้ยงแพะพระราชทานฯ และได้รับแพะพระราชทาน จำนวน 2 ตัว พ่อพันธุ์ชื่อ “กาแฟ” และแม่พันธุ์ชื่อ “บูบู้” ปัจจุบันมีแพะพระราชทานและพันธุ์อื่น ๆ ภายในฟาร์มกว่า 64 ตัว

การเลี้ยงแพะต้องใส่ใจดูแลในเรื่องของความสะอาดและอาหาร โดยส่วนใหญ่แพะจะกินใบของพืชต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามบริเวณบ้าน เช่น ใบกระถิน ใบมะพร้าว ใบกล้วย ใบมะม่วง ใบพุทรา รวมไปถึงผลกล้วยทั้งดิบและสุก เสริมด้วยหัวอาหารผสมกับเมล็ดข้าวโพด หรือ กล้วย เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารและประหยัดต้นทุนในการซื้อหัวอาหาร โดยการให้อาหารมีทั้งตัดมาให้และปล่อยให้หากินหญ้าบริเวณใกล้บ้าน ก่อนจะนำเข้าคอกในตอนเย็น สุขภาพทั่วไปของแพะ ค่อนข้างเลี้ยงง่าย ไม่ค่อยมีโรค ส่วนใหญ่ที่พบเป็นเพียงไข้หวัด ท้องเสีย สามารถซื้อยามารักษาเบื้องต้นเองได้

แพะจะสามารถเริ่มจับขายได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป แพะที่มีน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท กรณีที่เกิน 20 กิโลกรัม ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 90 บาท เฉลี่ยสูงสุดสามารถขายได้ถึง 7,000 บาทต่อตัว ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าหรือเกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียงมารับซื้อเพื่อนำไปเลี้ยงเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ต่อไป

ลุงพาและป้าไรไม่ได้เลี้ยงแพะเพื่อขายแพะอย่างเดียว ยังมีมูลแพะที่สามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ป้าไรเล่าว่า “เดิมนำมูลไปเผาทิ้ง พอจำนวนแพะมากขึ้น มูลก็มากขึ้นตามไปด้วยจึงมีคนมารับซื้อไปทำปุ๋ย โดยจะกวาดมูลแพะในช่วงบ่าย และนำไปตากแดดประมาณ 1 แดด หลังจากนั้นจึงบรรจุใส่กระสอบ ขายราคากระสอบละ 35 บาท”

ทุกวันนี้แพะของลุงพาและป้าไร สามารถผลิตลูกแพะพันธุ์แบล็คเบงกอลและพันธุ์ผสมอื่น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแพะพันธุ์แบล็คเบงกอลที่สามารถให้ลูกแฝดสูงสุดถึง 4 ตัว อีกทั้งยังผสมพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงแพะ ลุงพาและป้าไร แนะนำว่า “ต้องอดทน และดูแลเอาใจใส่แพะเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว มีระบบการจัดการที่ดี แพะจะมีสุขภาพที่ดี ทำให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยง มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวอย่างแน่นอน”

และนี่คืออีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ ปตท.สผ. ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ของเรา

#พลังความร่วมมือเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน  #EnergyPartnerOfChoice #PTTEP #S1Project

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า