“พระแก้วเพชรสุวรรณ” พระประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร
กำแพงเพชร-สถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร ทำพิธีทำบุญฉลอง “พระแก้วเพชรสุวรรณ” พระประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2563 เวลา 11.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พ.ต.อ.ศุภชัย ชัยสุวรรณผกก.สภ.เมืองกำแพงเพชร ได้เรียนเชิญคณะนายตำรวจ เจ้าหน้าที่ ข้าราชการตำรวจ และประชาชน จำนวนมากร่วมเป็นเกียรติร่วมพิธีทำบุญฉลอง“พระแก้วเพชรสุวรรณ”พระประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร โดยมี พระครูวชิรปัญญากร รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดบ่อสามแสน และคณะสงฆ์ รวม 9 รูป ทำพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ และทำพิธีเบิกเนตร “พระแก้วเพชสุวรรณ” พร้อมปะพรมน้ำพระพุทธมนต์
ตำนานพระแก้วมรกต จากพงศาวดารเหนือ ความว่า พระเจ้าอาทิตย์ราชก็ทรงปิติโสมนัสพระทัยหาที่สุดมิได้ ก็เข้าถวายบูชาพระแก้วมรกตทุกวันมิได้ขาด ด้วยอานุภาพของพระแก้วมรกต พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองมากในกรุงศรีอโยธยา สืบกษัตริย์ต่อมาได้หลายชั่วกษัตริย์ อยู่ต่อมาข้างหน้า เจ้าพระยากำแพงเพชรก็ยกกองทัพเรือมาทูลขอพระแก้วเจ้าขึ้นไปไว้เมืองกำแพงเพชร ต่อมามินานท่านก็มีพระราชบุตรพระองค์หนึ่ง เมื่อเจริญเติบโตขึ้นพระองค์ตั้งให้ขึ้นไปครองเมืองละโว้ ครั้นนั้นพระราชบุตรมีความระลึกถึงพระแก้วมรกตเป็นที่สุด ด้วยมีน้ำพระทัยอยากได้พระแก้วมรกตไว้ปฏิบัติบูชารักษา ท่านจึงมาเมืองกำแพงเพชรกราบทูลพระมารดาให้พระมารดากราบทูลพระราชบิดาขอเอาพระแก้วมรกตไปเมืองละโว้ จึงอ้อนวอนพระราชมารดาอยู่หลายพักหลายหน ฝ่ายพระมารดาทนคำอ้อนวอนขององค์ราชบุตรก็มิอาจขัดขืนได้ จึงขึ้นไปกราบทูลเจ้าเมืองกำแพงเพชรถึงพระราชโอรสมีความปรารถนาจะขอพระราชทานพระแก้วมรกตขึ้นไปปฏิบัติรักษาในเมืองละโว้ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดตามความปรารถนาเถิด เมื่อเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้รับฟังถ้อยคำของพระมเหสี ก็ทรงเมตตาในพระราชโอรสเป็นหนักหนา จึงตรัสให้ตามความปรารถนาทุกประการ แต่พระแก้วเจ้าที่อยุ่ในพระอารามนั้นมีอยู่มากนักหลายองค์อยู่ ถ้าพระราชโอรสรู้จักพระแก้วมรกตเป็นองค์ใดแน่แท้ก็จงเอาไปเถิด ฝ่ายพระอัครมเหสีและพระราชทานทองคำสองตำลึงแก่นายประตูให้แสดงว่าองค์ใดเป็นพระแก้วมรกตเป็นสำคัญ ครั้นตกกลางคืนนายประตูก็เอาดอกไม้แดงทอดไว้บนพระหัตถ์ของพระแก้วมรกตให้รู้ในสำคัญ ฝ่ายพระอัครมเหสีและพระราชบุตรก็เข้าไปในปราสาทเห็นดอกไม้แดงวางบนพระหัตถ์ของพระแก้วมรกตก็อัญเชิญพระแก้วเจ้ามายังเมืองละโว้ พระองค์ก็ปฏิบัติบูชาพระแก้วมรกตได้ปีเก้าเดือนก็เอากลับมาคืนพระราชบิดาที่เมืองกำแพงเพชร
พระแก้วมรกต เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาช้านาน ตามตำนานกล่าวว่า ผู้สร้างคือพระนาคเสนเถระ พระอรหันต์เจ้าแห่งประเทศอินเดีย ท่านต้องการบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป จึงดำริที่สร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วมณี เมื่อสร้างเสร็จได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเจ็ดพระองค์เข้าประดิษฐานในองค์พระแก้วมรกต พระแก้วมรกตเดิมประดิษฐานที่นครปาตลีบุตร แห่งประเทศอินเดีย ต่อมาเกิดสงครามประชาชนจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังลังกาทวีป จากนั้นหลังปีพุทธศักราช 1000 พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่พระมหานครเอกราช แต่เกิดอุทกภัย ทำให้ประชาชนตายทั้งพระนครต่อพระเจ้าอาทิตยราชแห่งอโยชยา ยกกองทัพมาตีชายแดนมหานครเอกราชจึงอัญเชิญมาไว้ที่นครอโยชยา พระยาวิเชียรปราการแห่งเมืองกำแพงเพชร ได้มาอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร
จากตำนานพระแก้วมรกต ฉบับเจ้านันทเสน กล่าวถึงการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศเขมรพระเถระรูปหนึ่งได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานทางเหนือของนครอินทปัตถ์ พระเจ้าอติราชแห่งแค้วนสยามฝ่ายเหนือ คือนครศรีอยุธยา เกรงว่าพระแก้วมรกตจะเป็นอันตราย จึงยกกองทัพไปสืบหาพระแก้วมรกตแล้วอัญเชิญไปไว้ในพระนครศรีอยุธยา ประดิษฐานอยู่หลายชั่วกษัตริย์ ภายหลังเจ้าเมืองกำแพงเพชร เป็นพระญาติกับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ที่กำแพงเพชรและถ้ามาอยู่ที่กำแพงเพชร พระพุทธเจ้าหลวงได้ตั้งข้อสังเกตในจดหมายเหตุประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรไว้ว่า ซึ่งยอมรับจะเรียกวัดพระแก้วได้นั้น เพราะเหตุที่มีตำนานว่า พระแก้วได้เคยมาอยู่ที่เมืองนี้ ถ้าหากว่าได้มาอยู่คงจะไม่ได้อยู่วัดอื่น คงอยู่วัดนี้แน่ ซึ่งหมายถึงวัดพระแก้วกลางเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน และได้ถูกอัญเชิญไปไว้ที่เชียงรายและเชียงใหม่ตามลำดับ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความเห็นว่า พระแก้วมรกตมีหลักฐานชัดเจนเมื่อคราวพบในเจดีย์ ณ วัดพระแก้วเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นวัดคู่เมืองเชียงรายมาแต่อดีตกาล ในปีพุทธศักราช 1977 ฟ้าได้ผ่าอยู่ด้านหลังของวัดป่าเยี้ยะ (วัดป่าไผ่) พบพระพุทธรูปทำด้วยพระแก้วมรกต ลักษณะงดงามมาก เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว และเปลี่ยนชื่อวัดป่าเยี้ยะว่าวัดพระแก้วตั้งแต่นั้นมา พระแก้วมรกตได้ไปอยู่ที่เขลางคน์คร (เมืองลำปาง) 32 ปี แล้วนำไปไว้เชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราชจนมาถึงปลายราชวงศ์มังราย พระไชยเชษฐาได้เสด็จมาครองเมืองเชียงใหม่ ได้ไม่นานพระเจ้าโพธิสารพระราชบิดาที่เมืองหลวงพระบางสวรรคต พระไชยเชษฐาเสด็จกลับแล้วนำพระแก้วมรกตไปด้วย ไปไว้ที่หลวงพระบางแต่เมื่อพระองค์เสด็จมาครองเมืองเวียงจันทน์ พระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เวียงจันทน์ด้วย จนกระทั่งได้อัญเชิญมาไว้ที่กรุงธนบุรี และกรุงเทพในปัจจุบัน
มีคำถามกันมากมายว่าพระแก้วมรกตเคยมาอยู่กำแพงเพชรจริงหรือจากหลักฐานอาจยืนยันได้ว่ามาอยู่ที่กำแพงเพชรจริง และเมื่อพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรนั้น ต้องประดิษฐาน ณ วัดในกำแพงเมือง วัดประจำเมืองกำแพงเพชรคือวัดที่เรียกกันว่าวัดพระแก้ว เพราะเชื่อกันว่าถ้ามาอยู่กำแพงเพชร ต้องอยู่ที่วัดนี้อย่างแน่นอน และประกอบกับที่วัดพระแก้วมีมณฑปขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟัก ย่อมุม 28 ตั้งซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น ฐานชั้นล่างกว้างประมาณ 12 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร ตรงกลางด้านทิศตะวันออกทำเป็นทางขึ้น ถัดจากนั้นเป็นฐานบัวลูกฟัก ย่อมุม 36 อีก 1 ชั้น แต่ชั้นนี้ไม่มีบันไดทางขึ้น ต่อไปเป็นฐานย่อมุม 28 กว้างประมาณ 8 เมตร รองรับตัวเรือนธาตุ ย่อมุมไม้ 12 มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ภายในเป็นห้องที่สันนิษฐานว่าน่าจะประดิษฐานพระแก้วมรกต พระแก้วมรกตประดิษฐานที่กำแพงเพชรระยะหนึ่ง ทำให้เมืองกำแพงเพชรมีชื่อเสียงโด่งดังว่าเป็นเมืองสำคัญ ในทางพระพุทธศาสนาทำให้หัวเมืองฝ่ายเหนือคิดจะแย่งชิงพระแก้วมรกตไปแต่ทำไม่สำเร็จ เพราะความแข็งแกร่งของเมืองกำแพงเพชร
เจ้านครเชียงราย ยกกองทัพใหญ่มีไพร่พลนับแสนมากำแพงเพชร เพื่อทูลขอพระแก้วมรกต ไปเป็นขวัญพระนครเชียงราย ด้วยแสนยานุภาพที่เกรียงไกร กำแพงเพชรจึงให้พระแก้วมรกตไปด้วยความโศกเศร้าเสียดายของอาณาประชาราษฎร คงมีการแย่งชิงพระแก้วมรกตกันอีกหลายครั้งทำให้เจ้าผู้ครองนครเชียงราย นำพระแก้วมรกตไปซ่อนไว้ภายในพระเจดีย์ วัดป่าเยี้ยะ ทำให้พระแก้วมรกตหายสาบสูญไป จนกระทั่งเกิดฟ้าผ่าพระเจดีย์ ทำให้พบพระแก้วมรกตอีกครั้ง เจ้าเมืองเชียงใหม่ตั้งใจจะอัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่เชียงใหม่ แต่มาถึงกลางทางช้างที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตไม่ยอมเดินแต่กลับมาที่เขลางค์นคร จึงมาประดิษฐานที่นครลำปาง ต่อมาพระเจ้าติโลกราชกษัตริย์เชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากลำปางมาไว้ที่สถูปเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐา ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่นครหลวงพระบาง และไปประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทน์ในที่สุด อยู่ใน ประเทศลาว เป็นเวลาประมาณ 200 ปี พระแก้วมรกต ได้รับการอาราธนาอีกครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีจากเมืองเวียงจันทน์ มายังพลับพลาที่วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) โดยพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ได้อาราธนาจากเมืองเวียงจันทน์ข้ามมายังเมืองพานพร้าว (น่าจะเป็นเมืองศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงเดินทัพมาถึงเมืองสระบุรี พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกต ว่าเป็นขบวนเรือไปรับที่ท่าเจ้าสนุก หลังจากที่อัญเชิญมาทางบก แล้วทำพิธีสมโภช 3 วัน 3 คืน จึงอัญเชิญมาที่ท่าพระราชวังหลวง มาประทับแรมที่พระตำหนักบางธรณี (วัดตำหนักใต้บ้างกระสอ นนทบุรี) และในที่สุดพระแก้วมรกต มาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน จากหลักฐานทั้งหมดยืนยันได้ว่า พระแก้วมรกตเคยมาอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรจริง และเมืองกำแพงเพชร เป็นเมืองใหญ่มาก ๆ ที่สามารถนำกองทัพเรือไปรับพระแก้วมรกตจากอโยธยามาไว้ที่กำแพงเพชรได้ น่าภูมิใจกับเมืองกำแพงเพชรของเรา จึงได้จัดสร้างพระแก้วมรกต ในชื่อ “พระแก้วเพชรสุวรรณ” หน้าตัก 14 นิ้ว ไว้เป็นพระประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร เพื่อเป็นที่สักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลของสถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชรสืบไป./ อาทิตย์ สุวรรณโชติ รายงาน