ธนาคารน้ำใต้ดิน วังหามแห แก้แล้ง แก้ท่วม แก้จน เกษตรกรเพิ่มผลผลิตรายได้
นางกุลดา พันธ์เตี้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ได้ติดตามโครงการตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ(เพิ่มเติม) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตำบลวังหามแห จำนวน 14 แห่ง โดยมีนายไฉน อำไพริน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห พร้อมด้วยสมาชิก และผู้นำหมู่บ้าน นายวิฑูรย์ สิรินุกุล นายอำเภอขาณุวรลักษบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวรายงาน ด้วยงบประมาณปีพ.ศ 2560 อำเภอขาณุวรลักษบุรีได้เล็งเห็นผลการดำเนินงานในการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาแหล่งน้ำของตำบลวังหามแห จึงได้ประสานขอรับงบประมาณงบพัฒนากลุ่มจังหวัด ตามโครงการแนวทางการสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปีงบประมาณพ. ศ. 2560 (เพิ่มเติม)เพื่อนำไปจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในพื้นที่ตำบลวังหามแหจำนวน 14 โครงการครอบคลุม 7 หมู่บ้านอบต.วังหามแห อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ได้ดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบบ่อปิด โดยขุดหลุมที่มีความกว้าง 1 เมตร ความลึก 1.50 เมตร นำวัสดุเหลือใช้ เช่น เศษหิน, เศษอิฐ,เศษไม้ และขวดน้ำพลาสติก ทิ้งลงในบ่อที่ขุดไว้ และนำท่อพีวีซีสำหรับระบายอากาศตั้งฝังไว้ตรงกลางหลุม หลังจากนั้นได้ทดลองปล่อยน้ำน้ำจำนวน 6000 ลิตร ไหลผ่านหลุมที่ขุดไว้ พบว่าระดับน้ำที่ไหลผ่านลงหลุมอย่างรวดเร็ว ไม่มีน้ำท่วมขังบริเวณดักกล่าว จึงได้ขยายทำบ่อไปสู่ชุมชนทั่วหมู่บ้าน จะช่วยให้น้ำที่ท่วมขังระบายลงสู่ใต้ดินได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการเติมน้ำใต้ดินให้มากขึ้น
พื้นที่ตำบลวังหามแห อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ส่วนใหญ่ เป็นเนินเขาเล็กๆ สลับที่ราบในพื้นที่เป็นดินเหนียวร่วนปนทราย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สภาพพื้นที่ภาคการเกษตรเป็นพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน และมักเกิดปัญหาน้ำท่วมหลากในฤดูฝน ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง ส่งผลกระทบต่ออาชีพการทำการเกษตร รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเป็นอยู่
นายไฉน อำไพริน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห พร้อมด้วยสมาชิก และผู้นำหมู่บ้าน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานภาคอีสาน การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ก่อนนำความรู้กลับมาพัฒนา เพิ่มศักยภาพภาพแหล่งน้ำใต้ดินขึ้น เป็นอีกหนึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้พื้นดิน โดยใช้หลักการเติมน้ำลงใต้ดิน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ เหมือนเป็นการกักเก็บน้ำไว้ในดิน ในชั้นโพงหินแตก และชั้นกรวดทราย เรียกว่าธนาคารน้ำใต้ดิน
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห เปิดเผยว่า ได้นำร่องขุดบ่อน้ำ เป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดขนาดเล็ก ความลึกประมาณ 90 เซนติเมตร มีเศษหิน เศษกรวด ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว เศษไม้สด ใส่ลงไปสูงประมาณ 30 เซนติเมตร วางท่อพีวีซีตรงกลางให้ตั้งฉาก แล้วใส่เศษวัสดุที่มีลงไปให้มีความสูง 3 ใน 4 วางทับด้วยผ้าลี่ แล้วใส่กรวดทรายลงไปให้พอดีกับระดับพื้น ก็ใช้งานได้แล้ว ใต้ดินจึงมีน้ำสะสมอยู่ทั่วหมู่บ้าน
นอกจากนี้ได้ขุดสระน้ำขนาดใหญ่สองแห่ง เพื่อเชื่อมต่อกับน้ำ จากธนาคารน้ำใต้ดิน ที่ไหลมาอยู่ในสระแห่งนี้ เพื่อใช้ในการเกษตร แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ได้ตลอดทั้งฤดู โครงการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งปัญหาอุทกภัย อีกทั้งประชาชนมีน้ำเพื่อทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น สามารถปลูกพืชหมุนเวียนได้ทุกฤดูกาล ช่วยเพิ่มผลผลิตส่งผลให้เกษตรกรนั้นมีรายได้เพิ่มขึ้น