ขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร
วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 นายธานี ธัญญาโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เปิดประชุม “คณะกรรมการการขับเคลื่อนแผนแม่บทบูรณาการการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และนำเสนอผลงาน ประจำปี 2560” ที่ห้องประชุมโรงแรมชากังราวริเวอร์วิว เมืองกำแพงเพชรโดยมีนายประครอง สายจันทร์ รักษาการผู้จัดการ สำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร อพท.4 กล่าวรายงานว่า “เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ “แผนแม่บทบูรณาการการบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และเห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ซึ่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 อพท. ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทบูรณาการการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร “จังหวัดกำแพงเพชร” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นที่ปรึกษา และมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ให้เกียรติเป็นประธานกรรมการ มีหัวหน้าหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้นำชุมชน เป็นกรรมการ และผู้จัดการ อพท.4 เป็นกรรมการและเลขานุการ”การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานของ อพท.4 ในปี 2560 ผลการประเมินแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์ GSTC (เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก) และทิศทางการขยายขอบเขตการดำเนินงานของ อพท. ในการแก้ พรฎ. จัดตั้ง อพท. เพื่อทำงานในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว และเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะการดำเนินงานของ อพท.4 ต่อแผนปฏิบัติการ อพท.4 พ.ศ. 2560 – 2563 และโครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2562นายธานี ธัญญาโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า “อพท. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนแม่บทบรูณาการการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ภายใต้วิสัยทัศน์ “เมืองมรดกโลกที่สร้างสรรค์การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่คงคุณค่าและยั่งยืน การพัฒนาทางกายภาพของเมืองกำแพงเพชรให้เกิดความสวยงามนั้น ต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการช่วยกันบำรุงรักษาสภาพอาคารให้งดงาม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจังหวัด โดยทางจังหวัดมีความพยายามจะจัดกิจกรรมท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภาคเอกชน ทั้งการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวเชิงวัดวาอาราม การท่องเที่ยวเชิงกีฬา”ทั้งนี้ ในเบื้องต้น(GSTC) “เกณฑ์การประเมินตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ประกอบด้วย การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน การเพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบเชิงลบทางสังคมและเศรษฐกิจแก่ชุมชนท้องถิ่น การเพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบทางลบด้านวัฒนธรรมให้แก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมด้วย อพท.4 ได้นำเกณฑ์ไปประเมินแหล่งท่องเที่ยวในเขตรับผิดชอบจำนวน 22 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว มีพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชรจำนวน 10 ตำบล ซึ่งพบว่ามีการดำเนินการพัฒนาตามเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีข้อต้องปรับปรุงและความเสี่ยงระดับปานกลางถึงระดับสูง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) นั้น สามารถนำมาแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืนได้”