รร.อบจ. จัดกิจกรรมไหว้ครู ให้นักเรียนได้มีโอกาสระลึกพระคุณครู
นายศุภชัย ศรีงาม ผู้อำนวยการกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.กำแพงเพชร, นายสมศักดิ์ นาคนาม ผู้อำนวยการโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร คณะครู และนักเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร จัดกิจกรรมวันไหว้ครูขึ้น เช้าวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ณ อาคารเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเดือนมิถุนายนของทุกปี จะเป็นเดือนที่ลูกศิษย์จะได้มีโอกาสแสดงความ เคารพรัก และระลึกถึงพระคุณของครู อาจารย์ ที่ตลอดเวลาที่เรียนนั้น ท่านได้คอยอบรมสั่งสอนให้เราเป็นคนดี
ครูมีความหมายว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ มีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า “หนัก” อันหมายถึง ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย เพราะกว่าคนๆ หนึ่งจะเติบโตมีวิชา ความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ครูจะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด นอกเหนือไปจากพ่อแม่ ซึ่งเปรียบเสมือน ครูคนแรก การที่เด็กๆจะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี ครู ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางการดำเนินชีวิตในภายภาคหน้าด้วย
ดังนั้น ครู จึงเป็นบุคคลสำคัญเป็นที่สอง รองไปจากบิดามารดาที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน การบูชาครู การไหว้ครู จึงเป็นประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณ ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคตสำหรับดอกไม้ที่ใช้ในการไหว้ครู จะใช้ดอกไม้หลัก 3 อย่างในการทำพาน คือ หญ้าแพรก สื่อถึง ขอให้เรียนได้เร็วเหมือนหญ้าแพรก ที่โตได้เร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำดุด่าของครูบาอาจารย์ เปรียบเสมือนเด็กที่มาเล่าเรียน เมื่อได้รับการสั่งสอนก็พร้อมจะเรียนรู้ เหมือนดังหญ้าแพรกที่แม้บางครั้งจะเหี่ยวเฉาไป แต่เมื่อใดที่ได้รับน้ำก็พร้อมจะเติบโตทันที ดอกเข็ม สื่อถึง ขอให้มีสติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม
ดอกมะเขือ สื่อถึง การเปรียบเทียบว่า มะเขือนั้น จะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึงนักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง และดอกงอกงามได้อย่างรวดเร็ว ใช้เป็นสัญลักษณ์เสมือนให้เกิดปัญญาความคิดที่พร้อมจะรับความรู้ได้อย่างรวดเร็ว และ ข้าวตอก สื่อถึง ความรู้ที่แตกฉาน เพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว?เหมือนลักษณะของข้าวสาร เปรียบได้กับการที่ครู “คั่ว”นักเรียนคนใดคนหนึ่ง กล่าวคือ “คั่ว”คือการเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนนั่นเอง วิชาความรู้ของนักเรียนเหล่านั้นจะ “แตก”ฉานสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้โดยการจัดกิจกรรมไหว้ครูในวันนี้ นอกจากจะมีการประกอบพิธีไหว้ครูแล้ว ยังได้จัดให้มีการแสดงต่างๆ ของนักเรียน การประกวดพานไหว้ครู ประกวดแต่งกลอนวันครู อีกด้วย
ภาพ/ข่าว สุทธิกานต์