คนถิ่นโบราณนครชุม ทำบุญลูกโยน สารทไทย
คนถิ่นเมืองโบราณ นครชุม ทำบุญโบราณ ข้าวต้มลูกโยน เนื่องในเทศกาลสารทไทยวันที่ 1 ตุลาคม 2559 เวลา 07. 30 น.ที่วัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ประชาชนชาวพุทธ ต่างสวมชุดไทยเดินทางมาทำบุญวันสารทไทย ในวันที่ 1 ตุลาคม2559 แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นวันสารทไทย ตามปฏิทินไทย ชาวพุทธใน จังหวัดกำแพงเพชร จะร่วมกันเดินทางมาวัดพระบรมธาตุ นครชุม พระอารามหลวง ที่วัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อทำบุญตักบาตร
นายธานี ธัญญาโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นำหัวหน้าส่วนราชการและพุทธศาสนิกชนชาวพุทธ ใส่บาตรลูกโยน โดยทางวัดจะได้นำบาตรขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 99 เซนติเมตร ให้ประชาชนใส่บาตรด้วยขนมข้าวต้มลูกโยน ซึ่งผู้ใส่บาตรต้องโยนขนมลงในบาตร ตามตำนานในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และกลับมายังมนุษย์โลกที่เมืองสังกัสคีรี ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ประชาชนต่างมารอเฝ้ารับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันนั้นท่านได้กล่าวว่าเป็นวันเปิดโลก ทำให้โลกมนุษย์ สวรรค์ และนรกต่างเห็นกันและกัน ประชาชนจำนวนมากที่มาเฝ้ารอรับพระพุทธเจ้า ต่างปรารถนาใส่บาตรพระพุทธองค์ โดยประชาชนที่อยู่ห่างออกไปไม่สามารถจะใส่บาตรได้ถึง จึงใช่วิธีการโยนอาหารของตนลงในบาตรของพระพุทธเจ้าและพระสาวก โดยอาหารเหล่านั้นตกลงในบาตรเป็นที่อัศจรรย์
ส่วนภายในศาลาวัดประดับตกแต่งด้วยต้นกล้วยไข่ ผลไม้นานาชนิด และประชาชนต่างนำขนมนมเนยไปแขวนไว้จำนวนมากเป็นการติดกัณฑ์เทศน์ ซึ่งทางวัดได้จัดการเทศน์มหาชาติในวันสารทไทย สำหรับประเพณีสารทไทย ชาวพุทธมีความเชื่อว่า วิญญาณของบรรพบุรุษจะมาคอยรับส่วนบุญส่วนกุศลที่ลูกหลานจะทำไปให้ ดังนั้นชาวพุทธจึงนิยมทำบุญกันในวันสารทไทย เพราะเชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะได้รับบุญอย่างเต็มที่ตามที่ลูกหลานตั้งใจ จึงทำให้เทศกาลสารทไทยเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่ชาวพุทธต้องเข้าวัดทำบุญและฟังธรรม และถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย
สำหรับข้าวต้มลูกโยนนั้น ดร.พระราชวชิรเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ เปิดเผยว่าว่า ทำมาจากข้าวเหนียว ซึ่งจะนำมาผัดกับกะทิ คล้ายกับการทำข้าวต้มมัด แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ข้าวต้มลูกโยนที่นี่จะใส่กล้วยถั่วดำแล้วนำมาห่อ ซึ่งรูปแบบการห่อจะนำใบเตย หรือใช้ใบมะพร้าว ฯลฯ ทำเป็นกรวยม้วนพันไปจนหุ้มข้าวเหนียวโดยทิ้งชายไว้ จากนั้นจะมัดด้วยตอกก่อนนำไปนึ่งให้สุกอีกครั้ง ในปัจจุบันประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยนนับวันจะเลือนหายไป ดังนั้นชาวกำแพงเพชรจึงอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามเช่นนี้ให้อยู่คู่จังหวัดกำแพงเพชรต่อไปข่าว /พิพัฒน์ ข ภาพ/ จันทร์ 7 สี