ผู้ต้องขังชาย หญิง พัฒนาจิตใจ ฝึกสมาธิ พร้อมเป็นคนดีคืนสังคม
วันที่ 8 กันยายน 2559 ที่เรือนจำกลางกำแพงเพชรนายนัทธี จิตสว่างที่ปรึกษากรมราชทัณฑ์ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย รักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมาเปิดโครงการพัฒนาจิตผู้ต้องขัง หลักสูตรสัคคสาสมาธิ ตามแนวทางพระธรรมมงคลญาณหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร รุ่นที่ 8-9
โดยมีนางบุษบา ศักดิ์รางกูลผู้บัญชาการเรือนจำกลางกำแพงเพชร กล่าวถึงโครงการนี้ว่ากรมราชทัณฑ์เป็นองค์กรหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่มีภารกิจหลักในการควบคุมแก้ไขและพัฒนาพฤติกรรมผู้ต้องขัง เพื่อคืนคนดีมีคุณค่าสู่สังคม การแก้ไขพัฒนาพฤติกรรมผู้ต้องขังเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถกลับไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมภายหลังพ้นโทษได้อย่างปกติสุข การพัฒนาจิตผู้ต้องขังโดยใช้หลักธรรมทางศาสนา เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง โดยเฉพาะการฝึกสมาธิเป็นการยกระดับจิตใจเนื่องจากจิตเป็นตัวกำหนดเป็นตัวควบคุม และเป็นตัวปรุงแต่งที่มีความสำคัญต่อการกระทำ ไม่ว่าทางร่างกายหรือทางวาจาก็ตาม ดังนั้นจิตได้รับการฝึกจิตภาวนา จึงเป็นจิตที่ได้รับประโยชน์สูงสุดอันจะนำไปสู่การปฏิบัติตนในทางที่เหมาะสม
กรมราชทัณฑ์จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขัง หลักสูตรสัคคสาสมาธิตามแนวทางพระธรรมมงคลญาณหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาพฤตินัยใส เพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้สร้างคุณค่าทางด้านคุณธรรมสร้างความรักความเมตตาไมตรี สร้างความเชื่อมั่นสร้างปัญญาสร้างพลังความอดทน การตัดสินใจสามารถนำมาเป็นหลักในการพัฒนาชีวิตให้ก้าวไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันปลูกจิตสำนึกทัศนคติและค่านิยมที่ดีงาม เป็นการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังน้อมนำหลักธรรมไปสู่การปฏิบัติอย่างถูกต้องเกิดการเรียนรู้รูปแบบกิจกรรมทางศาสนาตามหลักสากล มีแนวทางในการดำเนินชีวิตเห็นความสำคัญและคุณค่าของการทำความดีหลีกหนีความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสและดำรงตนเป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ เปิดโอกาสให้องค์กรด้านศาสนาหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นฟูและพัฒนาพฤตินิสัย ผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง
เรือนจำกลางกำแพงเพชร ได้จัดโครงการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหลักสูตรสัคคสาสมาธิมาแล้ว 7 รุ่น โดยมีผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมมาแล้วจำนวน 2,840 คน หลักการอบรมทำให้ผู้ต้องขังได้รับความรู้และฝึกปฏิบัติการทำสมาธิอย่างถูกต้องเกิดผลดีแก่ตนเอง การจัดโครงการนี้เป็นรุ่นที่ 8-9 มีผู้ต้องขังชายหญิงเข้าร่วมจำนวน 540 คนโดยได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และวิทยากรครูสมาธิจิตอาสาจากสถาบันพลังจิตตานุภาพที่อบรมให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติตลอดหลักสูตร
นายนัทธี จิตสว่าง กล่าวว่าขอให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านได้ตั้งใจรับการฝึกอบรมให้กลับตัวกลับใจประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีอยู่ในระเบียบวินัยให้ความเคารพเชื่อฟังครูอาจารย์และมีความพร้อมที่จะนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาพัฒนาตนเองขณะอยู่ในเรือนจำ และหลังพ้นโทษให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นอย่างได้อย่างมีความสุขโดยไม่หวนกลับมากระทำผิดอีก//พิพัฒน์จงมีความสุข รายงาน