อำเภอ/ท้องถิ่น ส่งเอกสารถึงบ้านแล้ว แจงการออกเสียงประชามติ
จากการที่นายทะเบียนอำเภอ/นายทะเบียนท้องถิ่น ได้จัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ แจ้งรายละเอียดสถานที่ลงคะแนนออกเสียง หน่วยออกเสียง วันเวลา รวมทั้งแจ้งว่าในบ้านมีผู้มีสิทธิ์เป็นใครบ้างลำดับที่เท่าไร ซึ่งได้ระบุว่าเพื่อความสะดวกและรวจเร็วในการใช้สิทธิออกเสียง กรุณาตัดรายชื่อตามเส้นประไปยื่นต่อคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนไปออกเสียงประชามติ และได้ส่งจุลสารการออกเสียงประชามติ สรุปย่อสาระสำคัญ 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง “ออกเสียงประชามติ”ร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติม วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เวลา 08.00-16.00 น. เล่มสีเขียวมีสัญญาลักษณ์หนุมาน ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีทั้งหมด 10 หน้า ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อม ตัวอย่างบัตร สาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ 1 เรื่องสำคัญที่ประชาชนและสังคมจะได้รับจากร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 2 เรื่องเด่นอื่นๆในร่างรัฐธรรมนูญ และ 2 ห้าสุดท้ายอธิบายว่าทำไมจึงต้องมีคำถามเพิ่มเติม คำถามเพิ่มเติม ถามว่าอะไร ซึ่งทั้งหมดเล่มอธิบายด้วยข้อความที่เข้าใจง่าย อ่านแล้วรู้เรื่องโดยสรุป และขณะนี้ในเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชรได้รับเอกสารดังกล่าวแล้ว สำหรับ การออกเสียงประชามติ หมายถึง กระบวนการในการแสดงความเห็นของประชาชนด้วยการลงคะแนนออกเสียงเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก่อนที่จะนำมติหรือการตัดสินใจนั้นออกเป็นกฎหมายหรือนำไปปฏิบัติเพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไป กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียง ประกอบด้วย 1.มีสัญชาติไทย (แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี) 2.มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันออกเสียง(เกิดก่อน 9 สิงหาคม 2541)ของปีที่มีการออกเสียง และ 3.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน(ย้ายมาก่อน 10 พฤษภาคม 2559) กำหนดลักษณะบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิออกเสียง ได้แก่ บุคคลที่ 1.วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ 2.เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช 3.ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย กำหนดระยะเวลาในการออกเสียงประชามติ ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. (เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาอีก 1 ชั่วโมง) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้สิทธิออกเสียง และกำหนดให้นับคะแนนที่หน่วยออกเสียง โดยเปิดเผยติดต่อกันจนแล้วเสร็จหลังจากปิดการลงคะแนนและให้รายงานผลการนับคะแนนไปยังอนุกรรมการออกเสียงประจำอำเภอ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและคณะกรรมการการเลือกตั้งตามลำดับ
แนวทางที่ควรปฏิบัติอย่างน้อย 5 ประการ ประกอบด้วย 1. ควรที่จะให้ความสนใจและติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนการตัดสินใจออกเสียงประชามติ 2. ควรที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในโอกาสต่าง ๆเพื่อประโยชน์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้เกิดความหลากหลายทางแนวความคิด 3. ควรที่จะคิดและวิเคราะห์ด้วยหลักเหตุและผลก่อนการตัดสินใจ โดยต้องไม่คล้อยตามกระแสหรือสถานการณ์ ต้องไม่ยอมรับการชักจูงด้วยประโยชน์อื่นใดในทางมิชอบ ต้องแยกแยะระหว่างความชอบหรือไม่ชอบในตัวบุคคลกับสาระของร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องรู้จักมองภาพรวมของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 4. ควรที่จะได้ศึกษาและทำความเข้าใจกับขั้นตอนและวิธีการในการลงคะแนนออกเสียงประชามติ เพื่อให้การใช้สิทธิออกเสียงเป็นไปอย่างถูกต้อง และ 5. ควรที่จะได้เห็นความสำคัญและไปใช้สิทธิออกเสียงโดยพร้อมเพรียงกัน แม้ว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้เป็นเพียงสิทธิ มิใช่หน้าที่ แต่เนื่องจากเป็นการกำหนดกติกาหลักของประเทศ ดังนั้น จึงควร ที่ผู้มีสิทธิออกเสียงทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการแสดงเจตนารมณ์นี้
ข้อมูล สำนักงาน กกต. //กำจร หัดไทย รายงาน