ศูนย์เรียนรู้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดินเปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒ เพื่อน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฏีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานไว้ เกิดประโยชน์ พัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาความยากจนแบบยั่งยืน การเปิดศูนย์เรียนรู้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฏีใหม่ประจำตำบล ทั่วประเทศ ๗,๔๒๔ แห่ง ซึ่งเปิดพร้อมกัน ทุกจังหวัดเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา โดยส่วนกลางพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ หอประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ การดำเนินการเปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฏีใหม่ประจำตำบลเป็นนโยบายของรัฐบาล มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและ การศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ดำเนินการร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ดำเนินการทั่วประเทศในทุกตำบล ซึ่งให้ครู กศน.ตำบล ของ กศน.เป็นผู้เชื่อมประสานกับแหล่งเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฏีใหม่ ที่มีอยู่ภายในตำบลนั้นๆโดยจัดการเรียนรู้ให้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ โดยเน้นความรู้แนวทางการดำเนินการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฏีใหม่ในส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร นายบุญทรง จิโนเป็ง ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดกำแพงเพชร ได้กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดที่ต้องเร่งดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยนายธาณี ธัญญาโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดกำแพงเพชร ท่านก็จะติดตามงานในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งสำนักงาน กศน.จังหวัดกำแพงเพชร ได้ประสานงานกับหน่วยงานอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ปราชญ์ ผู้ดำเนินการศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฏีใหม่ ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเราจะมอบหมายให้ครู กศน.ตำบล ไปอบรมรับความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และจะกลับมาขยายผล โดยกำหนดรุ่นแรกตำบลละ ๓๐ คน จาก ๗๘ ตำบลของจังหวัดกำแพงเพชร รวมกว่า ๒,๓๔๐ คน ในรุ่นแรก ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าอบรมรับความรู้ หรือศึกษาดูงาน รวมทั้งใช้บริการ ศูนย์เรียนรู้ปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฏีใหม่ประจำตำบล ได้ทุกแห่งของจังหวัดกำแพงเพชร โดยประสานงานที่ กศน.ตำบลทุกแห่ง//อ.กำจร หัดไทย รายงาน