บั้งไฟขอฝน หินดาต สืบสานประเพณี พี่น้องชาวไทยอีสาน
บั้งไฟ ตำบลหินดาด สืบสานประเพณี สมัครสมานสามัคคี พี่น้องชาวไทยอีสาน
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 อำเภอปางศิลาทองจังหวัดกำแพงเพชร มีพี่น้องชาวไทยอีสานมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายตำบลจึงได้มีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟขึ้น และในวันนี้มีขบวนแห่บั้งไฟแล้ว ยังจัดให้มีการแข่งขันบั้งไฟ จุดบั้งไฟ ท่ามกลางพี่น้องชาวไทยอีสานมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ที่สนามหน้าโรงเรียนบ้านเขาน้ำอุ่น หมู่ 4 บ้านเขาน้ำอุ่น ตำบลหินดาต อำเภอปางสิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร ขบวนบั้งไฟที่ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านได้ร่วมจิตพร้อมใจกันประดับตบแต่ง กันตามศิลปวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของท้องถิ่นอย่างสวยงาม นอกจากนี้เสียงปีเสียงแคนเซิงรำกันไปตามถนนเข้าสู่ลานพิธีเปิดกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุ ซึ่งทุกคนก็ไม่ท้อถอยต่างทำหน้าที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย สามัคคีพร้อมเพรียง กันไปจนถึงจุดหมายในพิธีเปิดงานบุญบั้งไฟของพี่น้องชาวไทยอีสานบ้านเขาน้ำอุ่น บ้านหินดาต บ้านเริงกะพง บ้านหนองสังกะสี บ้านจอมทอง บ้านอุดมทรัพย์ บ้านคลองมะนาว และบ้านรุ่งเรืองทรัพย์ ตำบลหินดาตในครั้งนี้ นายสุนทร รัตนากร นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วย นายนิสิต สวัสดิเทพ นายอำเภอปางศิลาทอง ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดนายจำรูญ กาฬภักดี นายก อบต.หินดาต นายประชัน อินสุวรรณ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหินดาต สมาชิกสภา อบต.หินดาต, กำนันผู้ใหญ่บ้าน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า เป็นการส่งเสริมงานประเพณีบุญบั้งไฟให้มีการปฏิบัติสืบทอดกันต่อไป สืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย เพื่อให้ชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างสรรค์ความสามัคคี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับเกษตรกรในการทำการเกษตร
ประวัติความเป็นมาของบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของไทย โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทานพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้ ช่วงเวลาของประเพณีบุญบั้งไฟคือเดือนหกหรือพฤษภาคมของทุกปี
ชาวบ้านเชื่อว่า หากทำให้แถนโปรดปราน มนุษย์ก็จะมีความสุข ดังนั้นจึงมีพิธีบูชาแถน การจุดบั้งไฟก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงความเคารพหรือส่งสัญญาณความภักดีไปยังแถน ชาวอีสานจำนวนมากเชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการขอฝนจากพญาแถน ให้พญาแถนบันดาลฝนลงมาตกยังโลกมนุษย์ นิยมจัดใน เดือนหก ของทุกปี โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ ในการขอฝน ชาวบ้านในภาคอีสาน ถือว่าบุญบั้งไฟ เป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าหากหมู่บ้านใด ไม่จัดงานบั้งไฟ ก็อาจเกิดภัยพิบัติ โรคภัย ไข้เจ็บ ทุพภิกขภัย แก่ชุมชนได้